บทสัมภาษณ์ พิง ลำพระเพลิง

แดดยามสายท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของผู้คน และการจราจร เรามีนัดกับผู้กำกับร่างเล็ก ท่าทางกระฉับกระเฉง นาม พิง ลำพระเพลิง พิง ลำพระเพลิง เป็นชื่อที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักในวงกว้างในวงการบันเทิง เพราะเขาเริ่มมีผลงานเป็นที่รู้จักตั้งแต่ปี 2533 (ซึ่งก็เกือบ 20 ปีเลยทีเดียว) จากการเขียนหนังสือ แกงไก่ล้างโลก ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นแรกของเขา หลังจากนั้นเราก็ได้รู้จักชื่อ พิง ลำพระเพลิง แฝงเข้าไปอยู่ตามตำแหน่งต่าง ๆ ของวงการ นอกจากตำแหน่งนักเขียนซึ่งมีผลงานพ็อคเก็ตบุ๊คออกมาอย่างต่อเนื่องแล้ว เขาก็ยังเขียนบทละครโทรทัศน์หลายต่อหลายเรื่อง อีกทั้งงานพิธีกร,ผู้กำกับละครยอดฮิตอย่าง ผู้กองยอดรัก, มี One Man Show ของตัวเอง และเริ่มแฝงกายเข้าสู่สายภาพยนตร์โดยการเขียนบท พยัคฆ์ร้ายส่ายหน้า กระทั่งได้มายืนอยู่ตรงตำแหน่งที่เจ้าตัวบอกว่าอยากจะเป็นที่สุด นั่นคือ ผู้กำกับภาพยนตร์ กับภาพยนตร์เรื่องแรก โคตรรักเอ็งเลย ที่ประสบความสำเร็จทั้งทางด้านรายได้ และทำให้ พิง ลำพระเพลิง กลายเป็นผู้กำกับหน้าใหม่ที่น่าจับตามอง บทสนทนาระหว่างผู้กำกับอารมณ์ดีเริ่มต้นอย่างเป็นกันเอง เคล้าเสียงหัวเราะ พอเราชวนเข้าเรื่องตำแหน่งใหม่ในวงการบันเทิง ก็เหมือนว่าบทสนทนาจะเริ่มเข้มข้นขึ้นทุกที คิดยังไงที่เป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ถูกจับตามอง? ก็ชื่นใจกับมันนะ รู้สึกว่าตัวเองเหมือนแมนยูฯ คือคนที่รักเราก็ต้องมาดูเราเพื่อมาเชียร์ คนที่เกลียดก็ต้องมาดูเราเพื่อจะถ่มถุย สมน้ำหน้า ผมรู้สึกว่าไม่ว่าจะรักหรือจะเกลียดขอให้มาดู ผมรู้สึกชอบนะ คือจะชอบทิศทางหนังของตัวเองอย่างนึง คือไม่รักก็เกลียดไปเลย คือชอบก็มาเป็นสาวกเลย โอ้โห หนังพี่พิงแม่งเจ๋งว่ะ ถ้าเกลียดก็คือ แม่งหนังอะไรวะ แต่พอมีเรื่องใหม่มา ทั้งคนที่รักที่เกลียดก็ต้องมาดูอีก ชอบ ชอบตำแหน่งตัวเองที่เป็นอย่างนี้ แล้วคิดว่าอะไรทำให้มันเป็นอย่างนั้น? เพราะว่าเราทำหนังที่เป็นตัวเราว่ะ ผมรู้สึกงั้นนะ รู้สึกว่ามันเป็นลายเซ็นที่มาเองโดยที่เราไม่ได้พยายามที่จะมีลายเซ็นอ่ะ ผมทำหนัง ไม่ว่ามันจะเป็นหนังที่ออกมารักหรือดุเดือด มันจะมีอะไรบางอย่างร่วม ๆ กันอยู่บางประการ ที่คนดูหนังเค้าจับได้ ซึ่งแรก ๆ ผมยังจับทิศทางไม่ได้นะ แต่คนดูหนังเค้าจะบอกว่า เออเนี่ย ตัวมึงเลยหละ หรืออย่างเจ้านาย พี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว เค้าดูหนังเค้าก็จะบอกว่า เออเนี่ยตัวมึงเลยหละ แค่เค้าดูหนังตัวอย่างนะ เค้าก็เออเนี่ยไอ้พิงหละ มันมีอะไรบางอย่างที่ฟ้องอยู่ ซึ่งบางสิ่งบางอย่างที่มันฟ้องเนี่ย อาจจะเกิดจากการที่เราไม่ได้ไปฝืนหนัง มันจึงออกมาเอง อย่างเรื่องคนหิ้วหัวเงี้ย มันมีอารมณ์หลาย ๆ อันในหนังที่มันออกมาเมื่อเราไปเห็นโลเคชั่นแล้ว ณ เมื่อตัวละครของเราได้ไปมีปฏิสัมพันธ์บางอย่าง ณ โลเคชั่นนั้น เราจะรู้สึกว่า ไอ้ฉากอย่างเงี้ย นักแสดงมาอยู่ในโลเคชั่นนี้ พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นแบบนี้ มันน่าจะเป็นแบบนี้ว่ะ ถึงแม้ในบทมันจะบอกว่าเป็นอีกอย่างนึงนะ แต่ถ้าเราไปดูตรงนั้นแล้ว ดูเหมือนกระแดะ แต่บางอย่างมันบอกว่า มันต้องเป็นอย่างนี้ว่ะ ก็จะปล่อยมันไปนะ ตราบที่มันไม่เลอะเทอะเท่าไหร่ เราก็ไม่รู้มันเลอะเทอะรึเปล่า แต่เชื่อว่ามันไม่เลอะเทอะว่ะ ก็ลุยไป นั่นก็เหมือนกับว่า ปล่อยให้หนังมีชีวิตของมันไปเองเลย? ใช่ ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่ได้เรียนเกี่ยวกับการทำหนังมาไง เราไม่รู้ว่าทฤษฎีมันคืออะไร เราก็ลองใช้ความรู้สึกของเรา รู้สึกว่าอยากได้อะไรก็ขอเอา ไม่ว่าจะเป็นทางภาพ ทางเรื่อง หรือการแสดง แต่มีหลายครั้งที่ผมรู้สึกว่าหนังกำกับตัวมันเอง ในหนังโคตรรักเอ็งเลย หรือในคนหิ้วหัว หนังเรื่องที่ 2 เนี่ย บางทีเราไม่ได้อยากให้มันออกมาในทิศทางนี้ แต่หนังมันก็พาตัวมันเองไปสู่ทางที่มันต้องการ คือมันจะเริ่มกำกับตัวมันเองแล้ว อาจเป็นเพราะผมยังไม่เก่ง ยังไม่แข็งพอที่จะกำกับหนังด้วย ถ้าผมไปขืนมันเนี่ยผมมีความรู้สึกว่าหนังมันจะหัก ผมเลยจะใช้วิธีอะลุ่มอล่วยกับหนัง คือถ้าหนังมันอยากจะไปทางนี้ เราปล่อยให้มันเป็นไป คือบทของผมเนี่ย เวลาออกไปกองถ่ายแทบจะไม่ได้ใช้เลย บทผมจะแค่ให้ทีมงานดูเท่านั้นเอง แต่พอไปถึงตรงนั้นแล้ว ผมแทบจะตัดต่อจากในบทใหม่เลยด้วยซ้ำ ทั้งเรื่องและอารมณ์ เหมือนเวลาเขียนรูป ถ้าคนเก่ง ๆ เค้าเขียนรูปทะเล เค้าคงบังคับให้ออกมาเป็นทะเลได้ แต่เวลาผมเขียนรูป ตั้งใจจะเขียนทะเลสงบ แต่ทีแปรงมันเสือกตวัดไปเป็นทะเลคลั่ง ผมก็จะไหลเตลิดไปให้เป็นทะเลคลั่ง ให้มันเป็นทะเลคลั่งที่สวย ดีกว่าให้มันเป็นทะเลสงบที่ไม่สวย เหมือนว่าวิธีนี้คือวิธีการกำกับหนังที่คิดว่าเหมาะกับตัวเองเลย? ผมไม่รู้ว่าคนอื่นเค้ากำกับกันยังไงนะ แต่ ณ นาทีนี้ชอบที่ตัวเองเป็นอย่างนี้มาก แล้วก็รู้ด้วยว่าถ้าทำไปอีกซัก 3-4 เรื่อง สิ่งเหล่านี้จะหมดไปจากตัวเราแล้ว ซึ่งจะไม่ชอบเลย ตอนนี้รู้สึกเหมือนตอนที่เริ่มเขียนเรื่องสั้นใหม่ ๆ จำได้ว่าเรื่องสั้นเรื่องแรกนี่ชอบมาก แกงไก่ล้างโลกเนี่ย เขียนแบบสะบัดปากกา ไม่สนใจ ไม่มีอะไรทั้งสิ้นเลย แต่พอเขียนไปซัก 4-5 เล่ม ทฤษฎีมันจะเริ่มมาเกาะเราเองโดยที่เราไม่รู้ตัว เหมือนอย่างตอนนี้ พยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้ทฤษฎีมาเกาะเรา แต่พอวันนึงผ่านไป ทฤษฎีจะมาเกาะเราโดยที่เราห้ามไม่ได้ แล้วกับหนังเรื่องที่ 2 เริ่มมีทฤษฎีมาเกาะบ้างรึยัง? มันอาจจะมีนะ แต่ไม่รู้ตัว รู้แต่เรื่องที่ 2 คนหิ้วหัวเนี่ย เรากล้าทำมากขึ้น เรากล้าที่จะเติมสีสันลงไปมากขึ้น เริ่มแอบ ๆ มีแอ๊คชั่นบ้าง ช่วยจำกัดความ คนหิ้วหัว ในแบบฉบับของ พิง ลำพระเพลิง หน่อย? คนหิ้วหัว ฟังดูอาจจะเหมือนผีหัวขาด คนวิ่งหนีผี แต่ คนหิ้วหัว ฉบับพิง ลำพระเพลิง มันจะไม่ใช่หนังผี มันออกจะเป็นหนังแอ๊คชั่น ชีวิต ๆ ด้วยซ้ำไป ออกแนวตลกร้าย ชื่อ คนหิ้วหัว จะไม่ใช่หนังผีได้ยังไง? เดี๋ยวผมขอท้าวความก่อน คือผมจะมีหนังใน line up อยู่ 4 เรื่อง คือ ความรัก ศรัทธา ความฝัน ความเชื่อ โคตรรักเอ็งเลยเนี่ย ผมเล่าในเรื่องของความรักไปแล้ว ส่วนคนหิ้วหัวเนี่ยผมจะเล่าในเรื่องของความศรัทธา คือเป็นเรื่องของพ่อที่ไม่ได้เรื่องคนนึง แต่อยากจะได้เรื่องซักครั้งในชีวิต ก็สัญญากับลูกว่าจะเงินไปให้ แต่พอดีว่าคอขาดซะก่อน แต่ด้วยพลังศรัทธาของเค้าทำให้เค้าไม่ยอมตาย แม้ว่าจะคอขาดไปแล้วก็ตาม สัญญากับลูกไว้ ยังไงก็ต้องทำให้ได้ ไอเดียเรื่องนี้เกิดมาจากอะไร? คือคนหิ้วหัวผมอยากเล่าเรื่องของพ่อลูก ในโคตรรักเอ็งเลยเนี่ย ผมเล่าเรื่องความรักระหว่างสามีภรรยาไปแล้ว เรื่องนี้ผมเลยอยากพูดถึงความรักระหว่างพ่อลูกบ้าง ส่วนใน line up อีก 2 เรื่องที่เหลือ ความฝันเนี่ยก็จะเป็นเรื่องของการรักตัวเอง ความเชื่อก็จะเป็นเรื่องของการรักแม่ คือทุกอย่างมันแตกย่อยมาจากตัวผมเองทั้งหมด อย่างโคตรรักเอ็งเลยผมใช้เวลาเขียนบท 5 วัน เรื่องนี้ผมใช้เวลาเขียน 7 วัน แต่ผมแม่ง research มาทั้งชีวิต ผมเขียนจากเรื่องราวที่ผมพบเจอมา เขียนจากปมด้อยในเรื่อง คนหิ้วหัว นอกจากจะกำกับแล้ว ยังร่วมแสดงด้วย? ใช่ ผมจะมีความรู้สึกว่าการทำหนังมันเหมือนจัดงานปาร์ตี้ เรื่องอะไรเราจะยืนดูอยู่เฉย ๆ ล่ะ เราต้องร่วมสนุกด้วยสิ รับบทเป็นใครใน คนหิ้วหัว? ผมรับบทเป็นไอ้เตี้ย ไอ้เตี้ยจะเป็นคนขี้หงุดหงิด อารมณ์ร้อน ฉุนเฉียวง่าย เป็นคนไม่เอาไหน เป็นพ่อที่ไม่ได้เรื่อง แต่จริง ๆ แล้วมันก็มีส่วนดีเหมือนกันนะ เพียงแต่มันถูกสถานการณ์ในชีวิต ถูกสภาวะสังคมกดดัน ไอ้เตี้ย เหมือนหรือต่างกับตัวเองยังไง? คาแรคเตอร์ที่แสดงออกมาไม่ใช่ว่ะ แต่แนวคิดน่ะใช่ คือผมคิดเหมือนที่ไอ้เตี้ยคิดเลย แนวคิดในการใช้ชีวิต ในการมีครอบครัว เวลาที่มีโอกาสไม่อยู่กับลูกต้องรอให้คอขาดก่อนถึงจะสำนึก จริง ๆ แล้ว ไอ้เตี้ยอาจจะเป็นสิ่งที่ผมไม่สามารถเป็นได้ในชีวิตจริง เหมือนเป็นด้านมืดที่ถูกหุ้มอยู่ แต่ผมมองไอ้เตี้ยแล้ว ผมรู้สึกดีใจที่ตัวเองเป็นอย่างงั้นนะ เพราะไอ้เตี้ยมันเป็นคนที่มีธาตุดีอยู่ในตัวไง บทนี้เขียนให้ตัวเองเล่นเลย? ใช่ เพราะตอนเอาบทไปเสนอกับพี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผมมีเงื่อนไขเดียวเลยคือ ผมต้องเล่นเป็นไอ้เตี้ย คือถ้าผมไม่ได้เล่นเป็นไอ้เตี้ยผมก็จะเสนอโปรเจ็คอื่นก่อน พี่ปรัชเค้าก็บอกว่า ไหนลองเล่าเรื่องมาให้ฟังซิ คราวนี้มาเป็นนักแสดงเต็มตัว ต้องกำกับด้วยเล่นด้วยเป็นยังไงบ้าง? ผมรู้ว่าผมต้องเหนื่อยแน่ ๆ เพราะต้องเล่นด้วยกำกับด้วยในสัดส่วนที่มันค่อนข้างหนักอยู่เหมือนกัน ผมก็เตรียมตัวมาตั้งนาน ใครอาจจะไม่คิดว่าผมเตรียมตัวก็ได้ แต่ผมรู้ว่าผมเตรียมตัวเพื่อสิ่งนี้ ทั้งกายภาพ ทั้งวิญญาณ ผมวิ่งวันละ 3 กม. ล่วงหน้า ตั้งแต่รู้ว่าบทผ่าน พี่ปรัชถามว่าแล้วทำไมเรื่องโคตรรักฯไม่เห็นต้องวิ่งเลย เพราะผมรู้ว่าเรื่องโคตรรักฯผมทำแค่ไหน แต่เรื่องนี้ผมรู้ว่าผมต้องหนักแน่ อาชีพผู้กำกับผมว่าเป็นอาชีพที่กรรมกรมากเลยนะ ยิ่งกำกับด้วยเล่นด้วยเนี่ย สุขภาพสำคัญ ถ้าป่วยขึ้นมา กองถ่ายก็ร่วงอ่ะ นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว ทั้งต้องกำกับทั้งต้องแสดง สมาธิต้องไปอยู่หลายจุด มีปัญหามั้ย? เป็นจุดอ่อนมาก ผมยังเคยคิดเลยว่าอิจฉานักแสดงที่มีผมเป็นผู้กำกับ อันนี้พูดเหมือนอหังการตัวเองมาก แต่ผมจะรู้สึกว่า ผมจะประคับประคองนักแสดงของผมไปถึงยังจุดที่ผมต้องการจริง ๆ ในขณะที่ตัวผมไม่มีใครประคับประคอง เคยแอบนึกในใจเหมือนกันว่า น่าจะมีใครมาประคองกูฉิบหายเลย แต่นั่นคือสิ่งที่เราเลือกเอง เราก็บ่นไม่ได้ เรื่องนี้ได้ร่วมงานกับไหม (วิสา สารสาส) อีกครั้ง เป็นยังไงบ้าง? คือที่เลือกไหมมาเล่นเนี่ย ส่วนนึงก็เพราะคุ้นเคยกันอยู่แล้ว อีกส่วนก็ชอบการแสดงของเค้าด้วย คือตอนเขียนก็นึกถึงไอ้ไหมนะ เห็นหน้ามัน เออ มันคงร้องไห้ประมาณนี้แหละ มันด่าคงประมาณนี้แหละ แล้วอีกส่วนนึง จะไปเอานางเอกที่ไหนที่จะมายอมเล่นเป็นเมียไอ้เตี้ย เราก็อยากได้คนที่เล่นได้ด้วย ก็คิดถึงไอ้ไหม สำหรับคาแรคเตอร์ที่ไหมได้รับ โดยพื้นฐานแล้วเนี่ยผมว่า นางเอกเรื่องโคตรรักฯ กับนางเอกเรื่องคนหิ้วหัว มันคือคน ๆ เดียวกัน เพียงแต่ว่าในโคตรรักฯ อาจมีฐานะดีกว่าหน่อย หรือว่ามีผัวที่เข้าใจ จริง ๆ แล้วมันก็คือตัวละครตัวเดียวกันแหละ ผมว่าตัวละครตัวเดียวกันทั้งผัวทั้งเมียด้วยซ้ำไป เพราะว่าไอ้รงค์ถ้ามันไม่ได้เป็นคนเขียนบท มันหาทางออกไม่ได้ มันอาจจะเป็นเหมือนไอ้เตี้ย คือไอ้เตี้ยกับหงส์ก็เหมือนเป็นรงค์กับแดงในด้านมืด แล้วกับภูริ (ภูริ หิรัญพฤกษ์) ทำงานด้วยกันครั้งแรกเป็นยังไงบ้าง? ภูริก็เป็นน้องที่น่ารักนะ เป็นนักแสดงที่อะลุ่มอล่วยในการทำงานดี คือทำงานเพื่อเซิร์ฟคาแรคเตอร์ตัวละครจริง ๆ ไม่ได้ทำงานเพื่อเซิร์ฟตัวเอง คือหลาย ๆ อย่างเค้ายอมที่จะทำ เพราะเค้ารู้ว่าตัวละครมันเป็นอย่างงั้น คือเค้าเล่นให้เราได้ 100% เลย ทีแรกไม่ได้คิดว่าเค้าจะเล่นได้ขนาดนี้ด้วยซ้ำไป รู้สึกว่าเค้าเล่นดีเกินกว่าที่เราคิด ทีแรกคิดว่าเค้าคงเล่นให้เราได้ประมาณนึง แต่ปรากฏว่าเค้าทำให้เราเต็มที่มาก มาที่กระแต (ศุภักษร ไชยมงคล) บ้าง? กระแตนี่ผมถือว่าเค้าเป็นนักแสดงที่มีสปิริตสูงมาก หลาย ๆ อย่างที่ไม่มีในบทเค้าก็ยอมเล่นให้ โดยที่ไม่มีการเกี่ยงงอน หลาย ๆ อย่างไม่ได้พูดคุยก่อนเค้าก็ยอมเล่นให้ คือทั้งภูริ ทั้งกระแต เป็นนักแสดงที่ผมรู้สึกชื่นใจ เพราะไม่คิดว่าเค้าจะเอาใจช่วยหนังเรื่องนี้ขนาดนี้ นอกจากเอาใจช่วยแล้ว เค้ายังออกแรงเชียร์ด้วย เค้าทำเต็มที่ อยากให้ทำอะไรก็ทำหมด เป็นนักแสดงที่เต็มร้อยมาก ๆ ทำไมถึงให้สาวเซ็กซี่อย่างกระแตมารับบทเป็นปอเต็กตึ้งที่ไม่มีความเซ็กซี่เลยล่ะ? ผมมีความรู้สึกว่ากระแตเค้าเป็นคนที่มี sex appeal สูงอยู่แล้ว เค้าไม่จำเป็นต้องแต่งตัวเซ็กซี่เลยด้วยซ้ำไป ต่อให้เค้าแต่ตัวเป็นปอเต็กตึ้งเค้าก็ยังดูเซ็กซี่ ผมเชื่อว่าทุกคนก็รู้สึกเหมือนกัน แม้ว่าในคนหิ้วหัวจะไม่เห็นกระแตแต่งตัววับ ๆ แวม ๆ แต่ผมว่าเค้าก็ยังเซ็กซี่ ในเรื่องมีฉากแอ๊คชั่นด้วย การกำกับฉากแอ๊คชั่นกับดราม่า ยากง่ายต่างกันยังไง? คือในเรื่องมันจะมีแอบบู๊หน่อย ๆ เพื่อไม่ให้หนังมันเนิบนิ่ม เรียกว่าการอยากชิมลางมากกว่า ด้วยความที่เราเป็นผู้ชาย อยากจะแอบทำหนังแอ๊คชั่นบ้าง แต่ก็ไม่กล้าทำเต็มรูปแบบ เพราะว่าก็ไม่รู้ตัวเองทำได้รึเปล่า ก็ใส่ไปเท่าที่จะใส่ได้ เป็นฉากแอ๊คชั่นที่อิงอยู่กับอารมณ์มนุษย์ซะส่วนใหญ่ เป็นการหนีเพื่อเอาชีวิตรอด มันยากคนละแบบนะ ระหว่างฉากแอ๊คชั่นกับอารมณ์ ฉากอารมณ์เป็นฉากที่เราต้องพานักแสดงของเราไปให้ถึงสิ่งที่เราต้องการ แต่ฉากแอ๊คชั่นเหมือนนักแสดงเค้าต้องไปด้วยตัวเค้าเอง มันเป็นความรู้สึกของผมนะว่าในฉากแอ๊คชั่นเราจะพานักแสดงของเราไปไม่ไกลเท่าไหร่ เค้าต้องช่วยตัวเค้าเอง แต่ในฉากอารมณ์ในสัดส่วนของความเป็นผู้กำกับเนี่ย มีสามารถพอที่จะช่วยนำพานักแสดงไปด้วย เพื่อให้ถึงจุดที่เค้าต้องไปให้ถึง ได้ข่าวมาว่าฉากแอ๊คชั่นเนี่ย ไม่ยอมให้นักแสดงใช้แสตนอินด้วย? คือจริง ๆ แล้วกลัวคนดูดูแล้วรู้สึกไม่เชื่อ ถ้ามันเป็นสแตนอิน เป็นสตั๊นท์ ไอ้ตัวละครมันไม่ได้วิ่งเอง พอคนดูมันไม่เชื่อตั้งแต่ฉากแรกแล้วเนี่ย เราจะเอาเค้ากลับมาลำบากละ เพราะเค้าฝังใจแล้วว่าแม่งหนังมึงมันไม่จริง ตัวมึงมันไม่จริง อารมณ์มันคล้าย ๆ กับเวลาที่เราอยู่บนเวที ถ้าตู้มแรกที่เราอยู่บนเวทีเราทำเงอะๆงะๆเนี่ย คนมันจะจับผิดเราแล้วทีนี้ แต่ถ้าเราขึ้นไปด้วยความเชื่อมั่นเนี่ย คนมันจะเชื่อว่าเราเป็นอย่างงั้นจริง ๆ ผมจะชอบเชื่อในความจริง หมายถึงว่าเวลาที่ดาราเค้าเล่นจริงเนี่ย อาจจะมีผลสืบเนื่องไปยังฉากต่อ ๆ ไปด้วย อ๋อ กูเคยผ่านเหตุการณ์ตรงนั้นมา มันอาจจะติด ๆ เข้าไปในความรู้สึกของเค้า คือไม่ได้หวังผลตรงแค่ฉากนั้นนะ หวังผลในฉากต่อ ๆ ไปด้วย เออ กูเคยรถคว่ำมาเว้ย กูเคยเจอผู้หญิงคนนี้มาช่วยกูตอนรถคว่ำเว้ย ความผูกพันมันอาจจะเกิด อาจจะซึม ๆ เข้ามา อาจจะเป็นต้การแสดงฉากต่อ ๆ ไปด้วย ไม่รู้มันมีผลรึเปล่านะแต่แอบ ๆ เชื่อเท่านั้นเอง การถ่ายทำเรื่องนี้ ฉากไหนเป็นฉากที่ยากที่สุด? ฉากไล่ล่าที่สถานีรถไฟยากที่สุดเลยสำหรับผมนะ คือมันเป็นฉากเปิดเรื่องด้วย เป็นฉากที่ไอ้เตี้ยหนีการไล่ล่าของพี่หมึก(อภิชาติ ชูสกุล) กับปุ๊ย(คืนสิทธิ์ สุวรรณวัฒกีหรือปุ๊ยตี10) ซึ่งเค้า 2 คนจะเป็นโจรที่ร่วมปล้นด้วยกันแต่ก็หักหลังกัน คือในบทเนี่ยผมเขียนอธิบายฉากนี้ไว้แค่ 2 บรรทัด แต่พอถ่ายทำจริงวิ่งกันอยู่ 2 คืนครึ่ง ซึ่งขนาดตัวผมเตรียมพร้อมร่างกายมายังเหนื่อยมาก แล้วกับตัวผมต้องมีขึ้นสลิงด้วยไง แล้วอย่างที่บอกว่าผมเป็นคนเชื่อในเรื่องความจริง ผมก็เลือกที่จะเล่นเอง แล้วก็ถ้าเป็นไปได้ก็จะขอให้นักแสดงเล่นเอง ส่วนนึงที่เราอยากเล่นเอง เพราะเราไม่รู้ว่าโอกาสแบบนี้มันจะลอยมาถึงเราอีกทีเมื่อไหร่ มันอาจจะเป็นโอกาสเดียวในชีวิตก็ได้ เราก็อยากทำให้มันดีที่สุด เท่าที่โอกาสมันมีมาถึงเรา แต่พอถ่ายทำออกมาก็รู้สึกชอบนะ รู้สึกว่าอาร์ตไดเร็คชั่นมันสวยดี รู้สึกว่าเราขยันกับมันดีเนอะ ไม่ใช่ทำแบบสุกเอาเผากินอ่ะ แล้วงานที่ได้ภาพที่ได้อารมณ์ที่ได้ในหนังก็รู้สึกชอบกับมัน รู้สึกภูมิใจกับมัน แม้พออยู่ในหนังมันจะถูกตัดเหลือแค่ 2 นาทีก็ตาม ในเมื่อเล่นเองไม่ใช้แสตนอิน มีเจ็บตัว หรือผิดคิวบ้างมั้ย? ถามว่ามีวันไหนไม่เจ็บตัวบ้างดีกว่า มีแผลกลับบ้านทุกวัน แต่ก็ว่าไม่ได้ เราเสือกกระแดะเล่นเองไง จบที่เจ็บตลอดแหละ มีฉากที่กระโดดโรงสีสูง 4 ชั้น โดยไม่ใช้สลิงลงมาด้วย? คือฉากนั้นมันจะเป็นฉากที่เป็นจุดจบของตัวละคร ซึ่งไอ้เตี้ยเนี่ยก็จะกระโดดลงมาจากชั้นบนสุด คือเค้าก็จะมีเซฟโดยการเรียงลังกระดาษไว้ด้านล่างไง แล้วก่อนหน้านั้นมันมีสตั๊นท์ของปุ๊ยที่กระโดดลงไปแล้วขาเค้าไปฟาดกับเหล็กที่มันยื่นออกมา ทีมงานเค้าก็เลยพยายามไม่ให้ผมกระโดด เค้ากลัวเราเป็นไรไป หนังจะถ่ายไม่จบ เราก็ยืนยันว่าจำเป็นต้องโดด พอไม่ได้ เค้าก็พยายามใหม่พยายามเรียงลังให้สูงขึ้น เพื่อให้เราปลอดภัยขึ้น เราก็ไม่เอาไม่ยอมอีก กลัวภาพไม่สวย คิวนั้นก็กระโดดไป 2 เทค ถ้าไม่เจ็บก็อาจมี 3 เทค หมดเทค 2 ก็ขาซ้นแล้ว ไม่ไหว พูดถึงฉากประทับใจสำหรับหนังเรื่องนี้บ้างดีกว่า? ฉากประทับใจคงจะเป็นฉากงานวันเกิดลูก มันจะเป็นฉากเศร้า ๆ ฉากนึง ของตัวละครทุกตัว ผมก็จะพยายามให้นักแสดงทุกคนเป็นตัวละครนั้น ๆ ด้วยสถานการณ์ทั้งหมดทั้งมวล เรื่องราวที่เค้าได้เจอมา พาให้พวกเค้ามาอยู่ ณ จุดนี้ รู้สึกว่ามันมีความเศร้า รู้สึกว่ามันเป็นไคล์แม็กซ์ของหนังดี รู้สึกว่าทุกอย่างมันปูมาเพื่อฉากนี้แหละ ว่าสิ่งที่ไอ้เตี้ยมันเคยสัญญากับลูกไว้ในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความที่คนอื่นคิดว่ามันไม่ได้เรื่อง แต่มันก็แบบว่า รักลูกมันนะ ถ่ายทอดผ่านผ้าห่ม ซึ่งผ้าห่มอันนี้มันก็เป็นผ้าห่มที่ผมเคยเย็บให้ลูกในชีวิตจริง ๆ ด้วย ได้เอามาใช้ในหนัง ทำไมถึงเอาผ้าห่มที่เย็บให้ลูกจริง ๆ มาใช้ในเรื่องด้วยล่ะ? คือรู้สึกว่ามันเป็นของจริง เป็นความจริง คือตัวไอ้เตี้ยมันก็เป็นตัวผม ผ้าห่มก็เป็นสิ่งที่ผมทำให้ลูกจริง ๆ ก็เลยถือโอกาสแอบ ๆ เอามาใช้ในหนังด้วยซะเลย ก็อย่างที่บอกว่าทุกอย่างที่ผมเขียนในหนัง ผมเอามาจากชีวิตจริงอยู่แล้วด้วย แล้วผมคิดว่า การที่เราเอาเสื้อผ้าของคนที่รักมากมาทำเป็นผ้าห่ม คลุมประทังความหนาวเหน็บ ผมรู้สึกว่ามันอบอุ่น มันโรแมนติกดีนะ ลองเปรียบเทียบระหว่างโคตรรักเอ็งเลยกับคนหิ้วหัว? โคตรรักฯกับคนหิ้วหัวนี่มันมีอารมณ์ร่วมกันอยู่ หลายสิ่งหลายอย่างเหมือนกันนะ จริง ๆ หัวใจมันคงจะเป็นหัวใจเดียวกัน พูดถึงคนเล็ก ๆ ที่มีความรักกับครอบครัว คนที่โหยหาอดีตที่มันไม่สามารถกลับมาได้แล้ว กว่าจะรู้มันก็สายไปแล้ว น่าจะเป็นจุดร่วมกันนะ กับโคตรรักฯ หนังมันมักจะถ่ายทอดตัวตนของคนทำ และนี่แหละมั้งคือตัวผม คิดว่าคนหิ้วหัวให้อะไรกับคนดู? ความสนุกนี่ให้แน่ ๆ ก็เหมือนกับหนังเรื่องต่าง ๆ ผมมีความเชื่อที่ไม่รู้ถูกหรือผิด ว่าหนังคือความบันเทิง ความบันเทิงในแง่นี้อาจจะหมายถึง เศร้าก็ได้ ตลกก็ได้ ติดตามก็ได้ ลุ้นระทึกก็ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณเข้ามาดูคนหิ้วหัว คุณก็จะได้ความสนุกแน่ ๆ ส่วนสาระในแบบฉบับพิง ลำพระเพลิงเนี่ย ถ้าใครเก็บเกี่ยวได้ก็เก็บเกี่ยวกลับบ้านไป แต่ถ้าไม่ได้ แค่ความสนุกก็คุ้มค่ากับเวลาที่คุณเสียเวลามาแล้วหละ พิง ลำพระเพลิง ปิดท้ายคำตอบด้วยรอยยิ้มอย่างเคย ก่อนที่จะย้ำด้วยประโยคที่ว่า อย่าลืมไปดูนะครับ คนหิ้วหัว 30 สิงหาคม 2550 นี้

“สยามดิสคัฟเวอรี่ สตรีท โชว์”

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 1 เมษายน นี้จะมีการปรับทัศนียภาพลานสยามดิสคัฟเวอรี่พลาซ่าให้เป็นถนนสตรีทโชว์ใจกลางกรุง ในงาน “สยามดิสคัฟเวอรี่ สตรีท โชว์” โดยมีการแสดงน่าสนใจอาทิ อุโกดะ มาซะชิ นักเป่าฟองสบู่ชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีทักษะเป่าฟองสบู่ได้หลายรูปแบบ อาทิ เป่าควันเข้าไปอยู่ในฟองสบู่ เป่าฟองสบู่ซ้อนกันหลายชั้น การเป่าฟองสบู่ให้เป็นบอลลูนสำหรับเล่นเวฟ โดยจะเป็นการแสดงผสมผสานกับละครใบ้ ทั้งนี้ผู้ร่วมชมงานยังสามารถร่วมสนุกกับนักแสดงได้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีการแสดงสตรีท เพอร์ฟอร์มานซ์ ที่รวมการแสดงวาไรตี้ตั้งแต่ มายากล ละครใบ้ ตลกจากศิลปินต่างๆ อาทิ พิงค์ ลำพระเพลิง มายากลของคณะ อาเลโน่ รวมทั้ง อาโครแมจิค ทีมนักกายกรรมชาวไทย ที่จะมาโชว์กายกรรมโบราณ อาทิ การเลี้ยงจานบนก้านไม้ และการเลี้ยงสิ่งของบนจักรยานล้อเดียว หรือจะชมหุ่นสายของคณะ Kae Dam Dam และความสามารถของ Juggling Man ผู้ชำนาญการโยนอุปกรณ์เล็กๆ เช่น ลูกแก้ว ห่วง และลูกบอลโยนสลับกันเป็นจำนวนมาก เพื่อเลี้ยงอุปกรณ์เหล่านั้นให้ลอยอยู่บนอากาศในหลากหลายลีลา นอกจากนี้ยังมีเหล่าโบโซ่มาร่วมสร้างสีสัน ตลาดนัดของเล่น กิจกรรมวาดภาพล้อเลียน

สำหรับส่วนของการแสดงดนตรีจะมีวงสตรีท เพอร์คัสชั่นหลายวงมาร่วม รวมทั้งจะมีวงดนตรีรุ่นใหม่กับดนตรีสบายๆ เบาๆ น่ารักของ The Rabbit Band วงที่มีกิมมิกซ่อนอยู่ใต้หน้ากากกระต่าย เป็นต้น

งานสตรีทโชว์กลางกรุงจะมีระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 1 เมษายน ตั้งแต่เวลา 16.00 -19.30 น.ที่ดิสคัฟเวอรี่พลาซ่า สยามดิสคัฟเวอรี่

ติดต่อ Prachachat.net@Gmail.com

“4 รุ่น 4 วุ่น ดูสนุกได้แง่คิด”

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ ไป ๆ มา ๆ ก็จะถึงสุดสัปดาห์กันอีกแล้ว ช่วงนี้สบายหน่อยการจราจรสบายโล่งเพราะเด็ก ๆ พากันปิดเทอมหมดแล้ว ใกล้ ๆ จะเสาร์อาทิตย์วันหยุดพักผ่อนแล้วเลยนึกถึงซีรีส์ที่ผมติดตามชมในวันเสาร์-อาทิตย์ อย่างเรื่อง 4 รุ่น 4 วุ่น ครับ จริง ๆ ผมเองได้ติดตามชมเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มต้นฉายแรก ๆ ทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ เวลา 20.40 น. ในตอนแรกที่ผมได้ดูยังรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่โดนใจสักเท่าไหร่ เพราะดูฝืด ๆ บางบทพูดหรือบางมุกยังไม่ค่อยจะลงตัวนัก ประจวบกับในตอนแรกคิดว่าคงเป็นเรื่องความรักของหนุ่มสาวในเรื่องอย่าง “ช้าง” ที่แสดงโดย โทนี่ รากแก่น กับ “ชาลี” หนูนา-หนึ่งธิดา โสภณ ตามแบบฉบับซีรีส์บ้านเรา

ก่อนอื่นต้องเล่าถึงความสัมพันธ์ของตัวละครทั้ง 4 คนให้ฟังก่อนว่าเพราะอะไรทั้งหมดถึงมาอยู่ด้วยกัน เริ่มต้นจากพ่อแม่ของครอบครัวนี้ถูกลอตเตอรี่รางวัลใหญ่เลยตัดสินใจไปเที่ยวรอบโลก ปล่อยลูก ๆ ทั้ง 4 ดำเนินชีวิตกันเองโดยมี “ชลดา” (ป๊อก-ปิยธิดา วรมุสิก) ลูกสาวคนโตวัย 30 เป็นพี่สาวใหญ่ดูแลน้อง ๆ คือ “ช้าง” (โทนี่ รากแก่น) วัย 25 ปี และ “ชาลี” (หนูนา-หนึ่งธิดา โสภณ) น้องสาวบุญธรรมวัย 20 ปี และ “ช้างน้อย” (อาไท กลมกิ๊ก) น้องชายคนเล็กวัย 10 ขวบ

ถึงตอนแรกจะทำให้รู้สึกไม่อยากติดตามชมตอนต่อ ๆ ไปสักเท่าไหร่ แต่ผมก็ยังเปิดใจลองชมอาทิตย์ต่อ ๆ มา ก็รู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาที่ลงตัวกลม กล่อมขึ้นจากบทโทรทัศน์ ซึ่งมาจากนักเขียนบทฝีมือเก๋าคุณพิง ลำพระเพลิง ผมเริ่มรู้สึกชอบการแสดงของ “ช้างน้อย” แสดงโดยนักแสดงตลกรุ่นเล็ก อาไท กลมกิ๊ก ที่โชว์ความตลกได้เป็นธรรมชาติ ส่วนนักแสดงรุ่นพี่อย่าง ป๊อก-ปิยธิดา วรมุสิก ฝีมือการแสดงไม่ต้องพูดถึงน่ารักเป็นธรรมชาติ โทนี่และหนูนาก็เช่นเดียวกันเล่นได้น่ารักน่าลุ้นความรักตามประสาวัยรุ่น ถ้าเป็นศัพท์วัยรุ่นก็ต้องเรียกว่าเคมีเข้ากัน

4 พี่น้อง 4 วัย ต้องมาอยู่ร่วมกันเลยต้องมีเรื่องราวทั้งสุขและทุกข์เกิดขึ้นให้พากันประคับประคอง ไม่ใช่แค่ความสนุกเท่านั้น แต่ยังสอดแทรกแง่คิดให้ผู้ชมได้รู้ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ถึงการอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวที่ต้องเปิดใจฟังกันมากขึ้นก็จะเข้าใจกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าใครรู้สึกเบื่อละครหลังข่าวแบบเดิม ๆ ที่เรื่องราวเวียน วนตบตีแย่งพระเอกของนางร้ายก็ลองพาคนในครอบครัวมาดูเรื่องนี้ได้รับรองไม่ผิดหวังครับ.

ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ — พุธที่ 4 เมษายน 2555 00:00:13 น

ศิริเพ็ญ อินทุภูติ ผู้บริอหารสายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ บริษัท สยามพิวรรธน์ ชานนท์ เครือด้วง หัวหน้ากลุ่มดินสอสีรุ้ง อุโคดะ พิง ลำพระเพลิง นักแสด

และผู้บริหาร โออิชิ ร่วงมเปิดงาน Siam Discovery Street Show 2012 โดยมีการแสดงสตรีทโชว์มากมาย ณ ลานกิจกรรม ห้างสรรพสินค้า สยามดิสคัพเวอรี่ เมื่อวันก่อน